วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

สำนวนต่างประเทศ

สำนวนจีน
สำนวนจีนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นคำคม คือคำพูดที่หลักแหลม มีถ้อยคำสละสลวย น่าฟัง และมีข้อคิดแฝงอยู่จัดเป็นภาษิตสอนใจ บางสำนวนใช้ถ้อยคำเปรียบเทียบซึ่งแสดงถึงจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมของคนจีนสมัยก่อน ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวคิดของคนไทย สำนวนจีน มีดังนี้
๑.    สำนวนจีนที่กลายเป็นสำนวนไทย  มีสำนวนไทยหลายสำนวนที่มีเค้ามาจากสำนวนจีน ต่อมานิยมใช้กันแพร่หลาย จนกลายเป็นสำนวนไทยโดยสิ้นเชิง ดังนี้
กิ่งทองใบหยก  เป็นสำนวนเปรียบเทียบชายกับหญิงที่เหมาะสมจะเป็นคู่รักกัน หรืสามีภรรยากัน สำนวนนี้ขุนวิจิตรมาตราผู้รวบรวมสำนวนไทยสันนิษฐานว่ามาจากสำนวนจีน
กระเป๋าอู๋  หมายถึง คนที่เป็นเศรษฐี ร่ำรวยมาก อู๋ เป็นภาษาจีน แปลว่า มีกระเป๋าอู๋ แปลว่า ในกระเป๋ามีเงินมาก
บอกยี่ห้อ  หมายถึง แสดงท่าทีหรืคำพูดให้รู้ว่า มีลักษณะนิสัยอย่างไร ยี่ห้อ เป็นภาจีน แปลว่า เครื่องหมาย ที่มาของสำนวนนี้มาจากสินค้าของจีนที่มียี่ห้อติดหรือประทับตรา
แบไต๋  หมายถึง เปิกเผยเรื่อง หรือแสดงท่าทีเป็นความในใจออกมาให้เห็น
พะกงสี  หมายถึง  คิดค่าใช้จ่าย หรือะไรๆที่ต้องเสียงไปโดยไปเอากับส่วนกลาง กงสี เป็นภาษาจีน แปลว่า บุคคลที่รวมกันเข้าทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ค้าขาย มีความหมายตรงกับคำว่า บริษัท
สามเพลงตกม้าตาย หรือสองเพลงตกม้าตาย  หมายถึงแพ้เร็ว  แพ้ง่าย แพ้ในเวลาไม่นาน เป็นสำนวนเปรียบเทียบใช้เกี่ยวกับคำพูดหรือการต่อสู้แข่งขัน ที่มาของสำนวนนี้มาจากนิยายพงศาวดารจีนรุ่นเก่า เช่น สามก๊ก  ไซ่ฮั่น  ส้วยถัง ฯลฯ ซึ่งเรียกกระบวนการรบว่า “เพลง”      
 บรรณานุกรม
ศรีสุดา   จริยากุล และคณะ. ภาษาไทย ๖ การเขียนสำหรับครู. กรุงเทพฯ : ประชาชน, ๒๕๒๙.

การเลือกใช้คำที่เหมาะแก่เนื้อเรื่อง

เลือกโดยคำนึงถึงเสียง
๑.    คำเลียนเสียงธรรมชาติ  คำจำนวนไม่น้อยในภาษาที่เป็นคำเลียนเสียงธรรมชาติ เป็นที่รู้จักและยอมรับกันแล้วว่าจะออกเสียงคำนั้นๆอย่างไร ผู้ที่จะใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ ดังกล่าวต้องใช้ให้ตรงกัน
ตัวอย่าง
          บุคคลผู้นั้นไม่สามารถทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ แม้จะเป็นในทางสร้างสรรค์ จึงลุกจากที่ประชุมเดินลงส้น ตึงๆ ออกไป
คำว่า  ตึงๆ  ทำให้เห็นภาพ แต่ถ้าใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติว่า สวบๆ ย่อมไม่ถูกต้อง

          น้ำค้างหยดลง เผาะๆ เป็นหยาดน้ำตาแห่งสวรรค์
ถ้าใช้ แปะๆ หรือ ปุๆ แทนคำ เผาะๆ  ย่อมไม่ทำไห้เป็นที่จับใจได้

คำเลียนเสียงธรรมชาติในบทกวีนิพนธ์ต่อไปนี้ ล้วนทำให้ผู้อ่านผู้ฟังเห็นภาพและเกิดความรู้สึกคล้อยตามไปด้วย
          ครืนครืนใช่ฟ้าร้อง                   เรียมครวญ
หึ่งหึ่งใช่ลมหวน                               พี่ไห้
ฝนตกใช่ฝนนวล                               พี่ทอด  ใจนา
ร้อนใช่ร้อนไฟไหม้                            พี่ร้อนกลกาม
                                                                           จาก ตำนานศรีปราชญ์  ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)

          ไผ่ซออ้อเอียด เบียดออด          ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่
ออดแอดแอดออดยอดไกว                แพใบไม้น้ำลำคลอง
กระเพื่อมพลิ้วปลิวคว้าง                   เธอวางร้างปล่อยลอยล่อง
บนแพใบไผ่ใยยอง                             แสงทองส่องทาบฉาบมา
                                                                          จาก “บนพรมใบไผ่” ใน คำหยาด ของ นวรัตน์  พงไพบูลย์

๒.  คำที่เล่นเสียงวรรณยุกต์ อันที่จริงคำในภาษาไทยที่ต่างกันเฉพาะเสียงวรรณยุกต์ มักจะมีความหมายต่างกัน แต่ก็มีอยู่บ้างที่มีความหมายใกล้เคียงกัน กวีก็ยังพยายามเลือกสรรมาใช้  ดังนี้
               คำนึงนุชนาฏเนื้อ                     นวลสมร
แม้นแม่มาจักวอน                                  พี่ชี้
จักบอกแก่บังอร                                     ออกชื้อ   เฌอนา
เรียมจักแนะนั่นนี้                                   โน่นโน้นแนวพรม
                                       ฯลฯ
               สลัดใดใดสลัดน้อง                 แหนงนอน  ไพรฤๅ
เพราะเพื่อมาราญรอน                             เศิกไสร้
สละสละสมร                                        เสมอชื่อ  ไม้นา
นึกระกำนามไม้                                     แม่นแม้น  ทรวงเรียม
                                       ฯลฯ
               ดลยังเวียงด่านด้าว                  โดยมี
เมืองชื่อกาญจนบุรี                                 ว่างว้าง
ผู้ใดบ่ออกตี                                            ตอบต่อ  ทัพนา
ยลแต่เหย้าเรือนร้าง                                อยู่ไร้ใครแรม
                   จาก  ลิลิตตะเลงพ่าย  พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมาณุชิตชิโนรส


๓.  คำที่เล่นเสียงสัมผัส  คนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ชอบพูดจาให้คล้องจองกัน ดังจะเห็นได้จากสำนวน คำพังเพย สุภาษิต ขื่อเฉพาะ คำขวัญ ที่มีเสียงสัมผัสคล้องจองกันเป็นส่วนมาก
ตัวอย่าง
สำนวน สุภาษิต คำพังเพย
คางคกขึ้นวอ   แมงปอใส่ตุ้งติ้ง                 
บัวไม่ให้ช้ำ   น้ำไม่ให้ขุ่น
ตักน้ำใส่กะโหลก   ชะโงกดูเงา
น้ำร้อนปลาเป็น   น้ำเย็นปลาตาย
รักยาวให้บั่น   รักสั้นให้ต่อ
เรือล่มเมื่อจอด   ตาบอดเมื่อแก่

ชื่อเฉพาะ 
ผ่านพิภพลิลา   ผ่านฟ้าลีลาศ  (ชื่อสะพาน)
เจริญกรุง   บำรุงเมือง   เฟื่องนคร (ชื่อถนน)
สำเร็จวรรณกิจ   สัมฤทธิ์วรรณการ (ราชทินนาม)
ประพาสแสงจันทร์   ตะวังส่องแสง (ชื่อเรือกลไฟพระที่นั่ง)
ทักษสัมพันธ์   วรรณสารวิจักษ์  วรรณลักษณวิจารณ์ (ชื่อหนังสือเรียนภาษาไทย)

๔.  คำพ้องเสียงและคำซ้ำ เมื่อนำคำพ้องเสียงมาเรียบเรียงหรือร้อยกรองเข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดเสียงไพเราะเพิ่มความพิศวง น่าฟัง  และยิ่ใช้ในบทพรรณนา หรือบทคร่ำครวญ ยิ่งทำให้สะเทือนอารมณ์
ตัวอย่าง
        ถึงคลองขวางบางจากยิ่งตรมจิต    ใครช่างคิดชื่อบางไว้กางกั้น
ว่าชื่อจากแล้วไม่รักรู้จักกัน                    พิเคราะห์ครันหรือมาพ้องกับคลองบาง
ทั้งจากที่จากคลองเป็นสองข้อ               ยังจากกอนั้นก็ขึ้นในคลองขวาง
โอ้ว่าจากช่างมารวบประจวบทาง          ทั้งจากบางจากไปใจระบม
จาก  นิราศพระบาท ของ สุนทรภู่

                    ฝูงลิงไต่กิ่งลางลิงไขว่            ลางลิงแล่นไล่กันวุ่นวิ่ง
ลางลิงชิงค่างขึ้นลางลิง                              กาหลงลงกิ่งกาหลงลง
นกเปล้านกปลีปน                                      ปลอมแปลก  กันนา
คล่ำคล่ำคลิ้งโคลงคล้าย                             คู่เคล้าคลอเคลีย
จาก  ลิลิตตะเลงพ่าย  พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมาณุชิตชิโนรส

ในบางครั้งการซ้ำคำ ทำให้เห็นภาพ ฟังไพเราะ และเมื่อนำคำที่ซ้ำกันมาใช้ในความหมายที่แตกต่างกัน ก็ยิ่งทำให้รู้สึกสะเทือนอารมณ์มากขึ้น
                    รอนรอนสุริยโอ้                       อัสดง
เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง                                      ค่ำแล้ว
รอนรอนจิตจำนง                                        นุชพี่  เพียงแม่
เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว                                คลับคล้ายเรียมเหลียว
จาก  กาพย์เห่เรือ  พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
ขอให้สังเกตคำ  รอนรอน  และ  เรื่อยเรื่อย  ในช่วงแรกซึ่งใช้แก่พระอาทิตย์ที่กำลังอ่อนแสงทีละน้อยๆ และคำว่า รอนรอน  และ  เรื่อยเรื่อย  ในช่วงหลังซึ่งใช้แก่บุคคลอันหมายถึงกวีผู้นิพนธ์ที่กำลังใจหายและคอยคะนึงหานางผู้เป็นที่รักอยู่ตลอดเวลา นับว่าเป็นศิลปะการสรรคำ ซึ่งทำให้ผู้อ่านเห็นภาพ และเกิดความรู้สึกอ่อนไหวตาม

บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ.  หลักภาษาและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ .
                      กรุงเทพฯ : สกสค, ๒๕๕๕.  

วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

คำคล้าย คำง่ายและคำยาก

       ๑.      คำคล้าย
คำคล้ายในที่นี้หมายถึง คำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปที่มีความหมายเหมือนกัน หรือคล้ายกันหรือใกล้เคียงกัน คำเหล่านี้เรียนว่า คำไวพจน์ ซึ่งพจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า “เป็นคำที่มีรูปต่างกัน แต่มีความหมายคล้ายคลึงกัน” ดังตัวอย่าง

คำ                    ไวพจน์
ใจ                    กมล   จิต   จิตใจ   มโน   หทัย   หฤทัย
ช้าง                  กรี   กุญชร   คช   คชสาร   นาค   หัตถี   ไอยรา
หญิง                กัญญา   กัลยา   นงคราญ   นงเยาว์   นารี   สุดา   สตรี
ตาย                  ตักษัย   บรรลัย   มรณะ   มตะ   ม้วยมอด   อาสัญ
ทอง                 กาญจน์   ชมพูนุท   ตปนียะ   สุพรรณ   สุวรรณ  เหม
น้ำ                    ชล   ชลธาร   ธารา   สินธุ   อาโป   อุทก
แผ่นดิน            ธรณี   ธราดล   ปถพี   ภูมิ   พสุธา
รบ                   ประจัญบาน   พันตู   ยงยุทธ์   รณรงค์   ราญรอน
         ๒.   คำง่าย
คำง่ายคือคำที่มีรูปลักษณ์เรียบง่าย เช่น เป็นคำมูลพยางค์เดียว หรือ ๒ พยางค์ หรือคำประสม คำซ้อน ที่เข้าใจความหมายทันที ไม่ซับซ้อน ส่วนมากคำไทยที่มีมาแต่เดิมเป็นคำง่าย เช่น คำในศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงมีคำต่อไปนี้ พ่อ แม่ ชื่อ นาง พี่ น้อง ท้อง นา ข้าว ปลา น้ำ ช้าง ลู่ ทาง ใน หลวง ทะเล ตะวันออก เดือนดับ ฯลฯ
นอกจากคำในศิลาจารึกแล้ว คำที่ใช้ในสำนวนไทยประเภทที่ซ้อนกัน ๔ คำบ้าง ๖ คำบ้าง ทั้งที่มีเสียงสัมผัสและไม่มีเสียงสัมผัส ส่วนมากมักเป็นคำง่าย สื่อความหมายได้แจ่มแจ้ง ดังตัวอย่าง
กรรมก่อทำเข็ญ                       ขวัญหนีดีฟ่อ
คอขาดบาดตาย                       ง่อยเปลี้ยเสียขา
เจ็บท้องข้องใจ                         ฉูดฉาดบาดตา
ชั่วดีถี่ห่าง                                ซักไซ้ไล่เลียง
คนจรนอนหมอนหมิ่น             ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน
ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน          ติดสินบน  คาดสินบน
ยุให้รำ  ตำให้รั่ว                       กินอยู่กับปาก  อยากอยู่กับท้อง
คับที่อยู่ได้  คับใจอยู่ยาก          นอนหลับไม่รู้  นอนคู้ไม่เห็น
ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก    รักยาวให้บั่น  รักสั้นให้ต่อ
รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง   เรือล่มเมื่อจอดตาบอดเมื่อแก่
ขึ้นเหนือล่องใต้                       หัวหกก้นขวิด
เนื้อไม่ได้กิน  หนังไม่ได้รองนั่ง  กระดูกแขวนคอ
อย่าไว้ใจทาง  อย่าวางใจคน  จะจนใจเอง      เป็นต้น
          ๓.     คำยาก
คำยากหมายถึงคำที่มีรูปลักษณ์ค่อนข้างซับซ้อน เช่น เป็นคำยาวหลายคำ เป็นคำสมาส หรือคำสมาสที่มีสระสนธิ เป็นคำยืมจากภาษาต่างประเทศ เป็นศัพท์บัญญัติทางวิชาการ                          คำเหล่านี้ล้วนเป็นคำยากที่ต้องแปล และอธิบายความหมายให้เป็นที่เข้าใจ ดังจะเห็นได้จากคำศัพท์ในวรรณคดี ในแบบเรียนสมัยโบราณ ในพระธรรมเทศนา และในบทความทางวิชาการ
การที่จะหลากคำในวรรณคดีที่มีคำยาก จำเป็นต้องใช้ความสามารถชั้นสูง และจะต้องใช้คำง่าย มาช่วยทำให้ความหมายของคำยากปรากฏแจ่มชัดขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
จากแบบเรียนสมัยโบราณและวรรณคดีสำคัญ
จากจินดามณี ของพระโหราธิบดี
                                    ร่ายไหว้พระรัตนตรัย
                ศรีสิทธิวิวิธบวร          กรประณต       ทศนขประณม
บรมไตรโลกโมลี        ศรีบรมไตรรัตน           ชคัตโลกาจารย์
นบนมัสการ    พระสุรัสวดี     คำภีรญาณพันลึก
อธิกโชติปัญญา           ข้อยข้าขอเขียนอาธิ      อักษรปราชญ์แต่งไว้...

ข้อสังเกต  คำที่พิมพ์ตัวเอนเป็นคำสมาสที่มีหลายพยางค์ จึงจัดเป็นคำยาก

จากปุณโณวาทคำฉันท์  ของพระมหานาควัดท่าทราย
           ปางปิ่นธเรศตรี-                       ศรเสวยสวรรยา
อยุธยายศมหา                                       นครราชธานี    
        ทราบกิจกลรอย                       พุทธบาทชินสีห์
มีราชหทัยทวี                                       กุศลมุ่งผดุงการ
      รดับเป็นพระมณฑป                วรรัตนโนฬาร
เพียงวิชยันต์พิมาน                               อมรเทพปูนกัน                       

ข้อสังเกต  คำที่พิมพ์ตัวเอนเป็นคำสมาสที่มีหลายพยางค์ จึงจัดเป็นคำยาก

           
           
บรรณานุกรม
ศรีสุดา   จริยากุล และคณะ. ภาษาไทย ๖ การเขียนสำหรับครู. กรุงเทพฯ :                                                           ประชาชน,  ๒๕๒๙.

การใช้โวหาร

การใช้โวหาร คือการพลิกแพลงภาที่ใช้พูดและเขียนให้แปลกออกไปจากที่ใช้อยู่เป็นปกติ ก่อให้เกิดจินตภาพ มีรสประทับใจ ความรู้สึก และอารมณ์ ต่างกับการใช้ภาษาอย่างตรงไปตรงมา การใช้โวหารดังกล่าวนี้มีอยู่หลายลักษณะ ลักษณะต่างๆเหล่านี้เรียกกันในวงการวาทศิลป์และการประพันธ์ว่า  ภาพพจน์  ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติใช้กันมานานแล้วเทียบกับคำ figures of speech ในภาษาอังกฤษ จะนำมาแสดงเพียง ๓ ลักษณะ ดังนี้
การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง
การเปรียบเทียบด้วยวิธีนี้ จะมีคำแสดงความหมายอย่างเดียวกับคำว่า เหมือน ปรากฏอยู่ด้วย เช่น เสมือน ดุจ ประดุจ ดั่ง กล ปูน เพียง ราว โวหารลักษณะนี้เรียกว่า อุปมา  นั้นเอง

ตัวอย่าง
            เสร็จเสวยศวรรเยศอ้าง            ไอศูรย์  สรวงฤๅ
เย็นพระยศปูนเดือน                             เด่นฟ้า
เกษมสุขส่องสมบูรณ์                          บานทวีป
สว่างทุกข์ธเรศหล้า                             แหล่งล้วนสรรเสริญ
จาก  ลิลิตตะเลงพ่าย  พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส
กวีเปรียบพระยศของสมเด็จของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า เสมือนดวงเดือนที่ลอยเด่นอยู่บนฟากฟ้า แสงเดือนเป็นแสงสีเหลืองนวล มองดูเย็นตาเย็นใจ จึงเป็นที่พึ่งของประชานช ทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข

            คุณแม่หนักหนาเพี้ยง               พสุธา
คุณบิดรดุจอา-                                     กาศกว้าง
คุณพี่พ่างศิขรา                                     เมรุมาศ
คุณพระอาจารย์อ้าง                             อาจสู้สาคร
จาก  โคลงโลกนิติ  พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร
โคลงบทนี้มีการเปรียบเทียบถึง ๔ แห่ง คือ เปรียบเทียบพระคุณของบุพการี คือ มารดาและบิดากับความกว้างใหญ่ไพศาลของพื้นดินและท้องฟ้า เปรียบพระคุณของพี่กับเขาพระสุเมรุ และเปรียบพระคุณของอาจารย์กับพื้นน้ำอันกว้างใหญ่ ขอให้สังเกตคำ สู้ ในที่นี้ว่า ทำหน้าที่แสดงการเปรียบเทียบได้เช่นกัน

            ไม้เรียงผกากุพ-                        ชกะสีอรุณแสง
ปานแก้มแฉล้มแดง                             ดรุณี ณ ยามอาย
จาก  มัทนะพาธา  พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ฉันท์บทนี้เปรียบเทียบว่า ดอกกุหลาบ (กุพชกะ) ซึ่งเป็นสีอรุโณทัย หรือ สีดวงอาทิตย์ขึ้น เหมือนแก้มสีแดงเปล่งปลั่งของสาวรุ่งยามเอียงอาย

การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง
การเปรียบเทียบเช่นนี้ไม่มีคำ เหมือน หรือคำอื่นที่มีความหมายนัยเดียวกันปรากฏอยู่ แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าการกล่าวเปรียบเทียบ ทำให้ภาษาที่ใช้สั้นกระชับสื่อความหมายได้แจ่มแจ้ง โวหารลักษณะนี้ผู้รู้หลานท่านนิยมเรียกว่า อุปลักษณ์
ตัวอย่าง
            ณ ราตรี เพ็ญ ๑๕ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขปุณณมี กว่ายี่สิบห้าศตวรรษมาแล้ว ดวงประทีปแห่งโลก ได้ดับลง รัศมีแห่งประทีปนั้นยังคงฉายอยู่ตราบเทาทุกวันนี้และยังจะเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน
วลี ดวงประทีปแห่งโลก เป็นการเปรียบเทียบโดยปริยาย หมายถึง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระปัญญาคุณ ประดุจแสงสว่างส่องทางแก่ชาวโลก
            พ่อตายคือฉัตรกั้ง                     หายหัก
แม่ดับดุจรถจักร                                  จากด้วย
ลูกตายบ่วายรัก                                    แรงร่ำ
เมียมิ่งตายวายม้วย                               มืดคลุ้มแดนไตร
จาก  โคลงโลกนิติ  พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเดชายาดิศ
ข้อความ  ฉัตรกั้ง  หายหัก   เป็นการเปรียบเทียบโดยปริยาย หมายถึง ผู้ที่คุ้มครองให้มีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยได้สูญสลาบไปแล้ว พ่อเป็นดุจฉัตร และความตายของพ่อเป็นดุจฉัตรหัก

การสมมุติสิ่งต่างๆ ให้มีกิริยาอาการ ความรู้สึกเหมือนมนุษย์
วิธีนี้เดิมมีผู้เรียกกันว่า บุคลาธิษฐาน แต่บุคลาธิษฐานนั้นเป็นศัพท์ทางพุทธศาสนา หมายถึง ยกบุคคลขึ้นเป็นที่ตั้ง ใช้เป็นหลักในการอธิบาย คู่กับคำธรรมาธิษฐาน เช่น ยกเรื่องของพญามารขึ้นมาเพื่ออธิบายเรื่องของกิเลสให้เข้าใจง่ายขึ้นจึงมีผู้รู้คิดศัพท์ใหม่ขึ้นว่า บุคคลวัติ หรือ บุคคลสมมุติ
ตัวอย่าง
ธรรมชาติรอบข้างต่างสลดหมดความคะนองทุกสิ่งทุกอย่าง
จาก  กามนิต ภาคสวรรค์  ของ เสถียรโกเศศและนาคะประทีป
สลดหมดความคะนอง  โดยปกติเป็นความรู้สึกและสภาพของมนุษย์


           คำฝรั่งมีอยู่ว่า “เงินพูดได้” แต่ที่จริงมันพูดต่อเมื่อเจ้าของเป็นคนปากโป้ง แลถ้าเช่นนั้นมันจะพูดอะไรออกมาแต่ละคำ ก็ล้วนแต่จะบาดหูคนทั้งนั้น ส่วนความจนแร้งแค้นนั้นก็พูดได้ แต่มันจะพูดว่ากระไรนั้นไม่มีใครอยากฟัง
จาก  จดหมายจางวางหร่ำ  (ฉบับที่ ๕) ของ น.ม.ส.
คำ พูด ทุกคำข้างต้นนี้ โดยปกติเป็นกิริยาอาการของมนุษย์ แต่นำมาใช้แก่   เงิน  ซึ่งไม่ใช่มนุษย์
           
            น้ำเซาะหินรินรินหลากไหล               ไม่หลับเลยชั่วฟ้าดินหาย
สรรพสัตว์พอฟื้นก็วอดวาย                             สลายซากเป็นกากผลธุลี
จาก  ลำนำภูกระดึง  ของ  อังคาร  กัลยาณพงศ์
หลับ  โดยปกติเป็นกิริยาอาการของมนุษย์  แต่ในที่นี้นำมาใช้แก่  สายน้ำ  ซึ่งไม่ใช่มนุษย์



 บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ.  หลักภาษาและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ .
                            กรุงเทพฯ : สกสค, ๒๕๕๕.