เลือกโดยคำนึงถึงเสียง
๑.
คำเลียนเสียงธรรมชาติ คำจำนวนไม่น้อยในภาษาที่เป็นคำเลียนเสียงธรรมชาติ
เป็นที่รู้จักและยอมรับกันแล้วว่าจะออกเสียงคำนั้นๆอย่างไร
ผู้ที่จะใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ ดังกล่าวต้องใช้ให้ตรงกัน
ตัวอย่าง
บุคคลผู้นั้นไม่สามารถทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ได้
แม้จะเป็นในทางสร้างสรรค์ จึงลุกจากที่ประชุมเดินลงส้น ตึงๆ ออกไป
คำว่า ตึงๆ ทำให้เห็นภาพ
แต่ถ้าใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติว่า สวบๆ ย่อมไม่ถูกต้อง
น้ำค้างหยดลง เผาะๆ
เป็นหยาดน้ำตาแห่งสวรรค์
ถ้าใช้ แปะๆ หรือ ปุๆ
แทนคำ เผาะๆ
ย่อมไม่ทำไห้เป็นที่จับใจได้
คำเลียนเสียงธรรมชาติในบทกวีนิพนธ์ต่อไปนี้
ล้วนทำให้ผู้อ่านผู้ฟังเห็นภาพและเกิดความรู้สึกคล้อยตามไปด้วย
ครืนครืนใช่ฟ้าร้อง เรียมครวญ
หึ่งหึ่งใช่ลมหวน พี่ไห้
ฝนตกใช่ฝนนวล พี่ทอด ใจนา
ร้อนใช่ร้อนไฟไหม้ พี่ร้อนกลกาม
จาก ตำนานศรีปราชญ์ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)
จาก ตำนานศรีปราชญ์ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)
ไผ่ซออ้อเอียด เบียดออด ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่
ออดแอดแอดออดยอดไกว แพใบไม้น้ำลำคลอง
กระเพื่อมพลิ้วปลิวคว้าง เธอวางร้างปล่อยลอยล่อง
บนแพใบไผ่ใยยอง แสงทองส่องทาบฉาบมา
จาก “บนพรมใบไผ่” ใน คำหยาด ของ นวรัตน์ พงไพบูลย์
๒. คำที่เล่นเสียงวรรณยุกต์ อันที่จริงคำในภาษาไทยที่ต่างกันเฉพาะเสียงวรรณยุกต์
มักจะมีความหมายต่างกัน แต่ก็มีอยู่บ้างที่มีความหมายใกล้เคียงกัน
กวีก็ยังพยายามเลือกสรรมาใช้ ดังนี้
คำนึงนุชนาฏเนื้อ นวลสมร
แม้นแม่มาจักวอน พี่ชี้
จักบอกแก่บังอร ออกชื้อ เฌอนา
เรียมจักแนะนั่นนี้ โน่นโน้นแนวพรม
ฯลฯ
สลัดใดใดสลัดน้อง แหนงนอน ไพรฤๅ
เพราะเพื่อมาราญรอน เศิกไสร้
สละสละสมร เสมอชื่อ ไม้นา
นึกระกำนามไม้ แม่นแม้น ทรวงเรียม
ฯลฯ
ดลยังเวียงด่านด้าว โดยมี
เมืองชื่อกาญจนบุรี ว่างว้าง
ผู้ใดบ่ออกตี ตอบต่อ ทัพนา
ยลแต่เหย้าเรือนร้าง อยู่ไร้ใครแรม
จาก ลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระปรมาณุชิตชิโนรส
๓. คำที่เล่นเสียงสัมผัส คนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน
ชอบพูดจาให้คล้องจองกัน ดังจะเห็นได้จากสำนวน คำพังเพย สุภาษิต ขื่อเฉพาะ คำขวัญ
ที่มีเสียงสัมผัสคล้องจองกันเป็นส่วนมาก
ตัวอย่าง
สำนวน สุภาษิต คำพังเพย
คางคกขึ้นวอ แมงปอใส่ตุ้งติ้ง
บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น
ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา
น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย
รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ
เรือล่มเมื่อจอด ตาบอดเมื่อแก่
ชื่อเฉพาะ
ผ่านพิภพลิลา ผ่านฟ้าลีลาศ
(ชื่อสะพาน)
เจริญกรุง บำรุงเมือง
เฟื่องนคร (ชื่อถนน)
สำเร็จวรรณกิจ สัมฤทธิ์วรรณการ (ราชทินนาม)
ประพาสแสงจันทร์ ตะวังส่องแสง (ชื่อเรือกลไฟพระที่นั่ง)
ทักษสัมพันธ์ วรรณสารวิจักษ์ วรรณลักษณวิจารณ์ (ชื่อหนังสือเรียนภาษาไทย)
๔. คำพ้องเสียงและคำซ้ำ เมื่อนำคำพ้องเสียงมาเรียบเรียงหรือร้อยกรองเข้าด้วยกัน
จะทำให้เกิดเสียงไพเราะเพิ่มความพิศวง น่าฟัง
และยิ่ใช้ในบทพรรณนา หรือบทคร่ำครวญ ยิ่งทำให้สะเทือนอารมณ์
ตัวอย่าง
ถึงคลองขวางบางจากยิ่งตรมจิต ใครช่างคิดชื่อบางไว้กางกั้น
ว่าชื่อจากแล้วไม่รักรู้จักกัน พิเคราะห์ครันหรือมาพ้องกับคลองบาง
ทั้งจากที่จากคลองเป็นสองข้อ ยังจากกอนั้นก็ขึ้นในคลองขวาง
โอ้ว่าจากช่างมารวบประจวบทาง ทั้งจากบางจากไปใจระบม
จาก นิราศพระบาท ของ สุนทรภู่
ฝูงลิงไต่กิ่งลางลิงไขว่ ลางลิงแล่นไล่กันวุ่นวิ่ง
ลางลิงชิงค่างขึ้นลางลิง กาหลงลงกิ่งกาหลงลง
นกเปล้านกปลีปน ปลอมแปลก กันนา
คล่ำคล่ำคลิ้งโคลงคล้าย คู่เคล้าคลอเคลีย
จาก ลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระปรมาณุชิตชิโนรส
ในบางครั้งการซ้ำคำ
ทำให้เห็นภาพ ฟังไพเราะ และเมื่อนำคำที่ซ้ำกันมาใช้ในความหมายที่แตกต่างกัน
ก็ยิ่งทำให้รู้สึกสะเทือนอารมณ์มากขึ้น
รอนรอนสุริยโอ้ อัสดง
เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง ค่ำแล้ว
รอนรอนจิตจำนง นุชพี่ เพียงแม่
เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว คลับคล้ายเรียมเหลียว
จาก กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
ขอให้สังเกตคำ รอนรอน
และ เรื่อยเรื่อย ในช่วงแรกซึ่งใช้แก่พระอาทิตย์ที่กำลังอ่อนแสงทีละน้อยๆ
และคำว่า รอนรอน และ เรื่อยเรื่อย ในช่วงหลังซึ่งใช้แก่บุคคลอันหมายถึงกวีผู้นิพนธ์ที่กำลังใจหายและคอยคะนึงหานางผู้เป็นที่รักอยู่ตลอดเวลา
นับว่าเป็นศิลปะการสรรคำ ซึ่งทำให้ผู้อ่านเห็นภาพ และเกิดความรู้สึกอ่อนไหวตาม
บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ. หลักภาษาและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ .
กรุงเทพฯ : สกสค,
๒๕๕๕.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น