วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

การอ่านออกเสียงคำไทยที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต

การอ่านออกเสียงคำไทยที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต
            คำไทยจำนวนมากมีที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต เมื่ออ่านออกเสียงคำเหล่านี้ ผู้อ่านอาจมีปัญหาว่าควรอ่านออกเสียงสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์อย่างไร
        สระ  คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต ถ้าไม่มีรูปสระกำกับ  เดิมออกเสียงเป็นเสียงสระ อะ เมื่อไทยนำมาใช้ มักออดเสียงพยัญชนะตัวสุดท้ายเป็นเสียงตัวสะกด และออกเสียงสระเป็น โอะ เช่น  
            กลม      เดิมออกเสียง  กะ – มะ – ละ              ไทยนำมาใช้ออกเสียง กะ – มน
            ชนก     เดิมออกเสียง  ชะ – นะ – กะ                ไทยนำมาใช้ออกเสียง ชะ – นก
            ผล        เดิมออกเสียง    ผะ – ละ                       ไทยนำมาใช้ออกเสียง ผน
            อุทก     เดิมออกเสียง    อุ – ทะ – กะ                 ไทยนำมาใช้ออกเสียง อุ – ทก  
ถ้าไม่มีรูปสระกำกับ เมื่อไทยนำมาใช้จะออกเสียงพยัญชนะตัวสุดท้ายเป็นเสียงของตัวสะกดและออกเสียงสระตามเดิม เช่น
                วิวิธ     เดิมออกเสียง   วิ – วิ – ทะ       ไทยนำมาใช้ออกเสียง  วิ – วิด
            วินย     เดิมออกเสียง   วิ – นะ – ยะ     ไทยนำมาใช้ออกเสียง  วิ – นัย
            วรุณ     เดิมออกเสียง   วะ – รุ – นะ     ไทยนำมาใช้ออกเสียง  วะ – รุน
คำบาลีสันสกฤตที่พยัญชนะต้นมีตัว ร ตามมา ไทยมักออกเสียงให้มีเสียงสระ ออ  ประสมอยู่ด้วย
                กรกฎ               ออกเสียง         กะ – ระ – กด
                หรดาล             ออกเสียง         หอ – ระ – ดาน
            มรกต               ออกเสียง         มอ – ระ – กด
            ปรปักษ์           ออกเสียง         ปอ – ระ – ปัก
            ธรณี                 ออกเสียง         ทอ – ระ – นี
อนึ่ง คำที่พยัญชนะต้นเป็น บ แม้ไม่มี ร ตามมา ไทยก็ออกเสียงให้มีสระ ออ ประสมอยู่ด้วย เช่น
                บวร                 ออกเสียง         บอ – วอน
            บดี                   ออกเสียง         บอ – ดี
ถ้าพยางค์หลังของคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตมีสระ อิ อุ กำกับ ไทยใช้พยัญชนะต้นของพยางค์หลังเป็นตัวสะกด และตัดเสียงสระหรือไม่ออกเสียงสระซึ่งอยู่ท้ายพยางค์ เช่น
            เกตุ                  ออกเสียง         เกด
            ชาติ                 ออกเสียง         ชาด
            ญาติ                 ออกเสียง         ยาด
            มาตุ                 ออกเสียง         มาด
            เมรุ                   ออกเสียง         เมน
            เหตุ                  ออกเสียง         เหด
คำว่า วุฒิ ต่างกับคำข้างต้นนี้ เพราะศัพท์เดิมเป็น วุฑฺฒิ จึงอ่านตามหลักภาษาเดิมว่า วุด – ทิ แต่บางคนก็ออกเสียงว่า วุด ถือว่าเป็นการอ่านตามความนิยม  
คำที่มีสระ อิ อุ ท้ายพยางค์อาจนำไปรวมกับคำอื่น เกิดเป็นคำใหม่ มีความหมายเนื่องกับคำเดิม เรียกว่า คำสมาส ผู้พูดออกเสียง อิ อุ ในคำสมาสด้วย เช่น
ชาติพันธุ์(ชาติ+ พันธุ์)             ออกเสียง         ชาด – ติ – พัน
มาตุภูมิ(มาตุ + ภูมิ)                   ออกเสียง         มา – ตุ –พูม
ญาติธรรม(ญาติ + ธรรม)             ออกเสียง            ยาด – ติ – ทำ
คำสมาสที่ไม่มีรูปสระปรากฏอยู่ที่พยางค์ท้ายของคำหน้า ผู้พูดต้องเติมสระ อะ ที่ท้ายคำหน้า เช่น
ราชการ(ราช + การ)                 ออกเสียง         ราด – ชะ – กาน
จุลสาร(จุล + สาร)                    ออกเสียง         จุน – ละ – สาน
อย่างไรก็ดี หลักการข้างต้นนี้มิได้ใช้แก่คำสมาสทุกคำในภาษาไทย มีคำสมาสจำนวนมากที่ไม่นิยมอ่านออกเสียงสระท้ายคำ เช่น
 ธนบุรี                                                 คำเหล่านี้อ่านว่า          ทน – บุรี 
ชลบุรี                                      คำเหล่านี้อ่านว่า          ชน – บุรี 
 สมุทรปราการ                        คำเหล่านี้อ่านว่า          สะ – หมุด – ปา – กาน 
 ธาตุวิเคราะห์                          คำเหล่านี้อ่านว่า          ทาด – วิ – เคราะ  ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีคำสมาสอีกหลายคำที่ออกเสียงได้ทั้งสองอย่าง เช่น
เกตุมาลา          ออกเสียง         เกด – มา – ลา               หรือ     เก – ตุ – มา – ลา
ราชบุรี             ออกเสียง         ราด – บุ – รี                   หรือ     ราด – ชะ – บุ – รี
ประถมศึกษา   ออกเสียง         ประ – ถม – สึก – สา    หรือ     ประ – ถม – มะ – สึก – สา
เพชรบุรี           ออกเสียง         เพ็ด – บุ – รี                   หรือ     เพ็ด – ชะ – บุ – รี
 คำบางคำที่ไม่ใช่คำสมาส แต่นิยมอ่านเนื่องกันแบบคำสมาส เช่น
มูลค่า               ออกเสียง         มูน – ละ – ค่า
คุณค่า              ออกเสียง         คุน – นะ – ค่า
ทุนทรัพย์         ออกเสียง         ทุน – นะ – ซับ
ผลไม้               ออกเสียง         ผน – ละ – ไม้
พลเรือน           ออกเสียง         พล – ละ – เรือน
กลเม็ด             ออกเสียง         กน – ละ – เม็ด
กรมท่า             ออกเสียง         กรม – มะ – ท่า
เมรุมาศ            ออกเสียง         เม – รุ – มาด            ตามลำดับ



บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ.  หลักภาษาและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ .
                 พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ สกสค, ๒๕๕๔.              

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น