วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีและพิธีกรรมจากวรรณคดี

ขุนช้างขุนแผน
เรื่องการแต่งงานของไทย
    ประเพณีและพฤติกรรมเกี่ยวกับตัวบุคคลนี้ในขุนช้างขุนแผนกล่าวว่า  เมื่อมีการสู่ขอผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะไปพูดจาสู่ขอ กับผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว จากขุนช้างขุนแผนตอนที่ ๗ นางทองประศรีได้ไปสู่ของนางพิม กับนางศรีประจันโดยมีวิธีการพูดจาสู่ขอโดยกล่าวเป็นนัย ๆ ไว้ตอนหนึ่งว่า
                         จะขอพันธุ์ฟักแฟงแตงน้ำเต้า             ที่ออเจ้าไปปลูกไว้ในไร่
                        ทั้งอัตคัดขัดสนจนเงินตรา                  จะมาขายออแก้วให้ช่วงใช้
                        อยู่รองเท้านึกว่าเอาเกือกหนัง              ไม่เชื่อฟังก็จะหาประกันให้
                        ได้บากบั่นมาถึงเรือนอย่าเบือนไป       จะได้หรือไม่ได้ให้ว่ามา

               ฝ่ายนางศรีประจันนั้นรู้ว่าพลายแก้วชอบพอกับนางพิมอยู่จึงตอบตกลงว่า
                       ถึงยากจนอย่างไรก็ไม่ว่า                    แต่พร้าขัดหลังมาจะยกให้
                        อุตสาห์ทำมาหากินไป                         รู้ทำรู้ได้ด้วยง่ายดาย

            หลังจากนั้นนางทองประศรีและนางศรีประจันซึ่งเป็นแม่ทัพของพลายแก้วและนางพิมก็พูดจาตกลงกันเรื่องสินสอด เรือนหอ และวันงานว่า
                        ข้าจะให้ลูกข้าสิบห้าชั่ง                        ขันหมากมั่งน้อยมากไม่จู้จี้
                        ผ้าไหว้สำหรับหนึ่งก็พอดี                    หอมีห้าห้องฝากระดาน
                        เดือนสิบสองวันเสาร์ขึ้นเก้าค่ำ             กำหนดงานจะทำให้คิดอ่าน
                        ทองประศรีรับคำมิได้นาน                   ตามแต่ท่านจะคิดไม่ขัดใจ

หลังจากนั้นก็จะเป็นการแต่งงานวันงานจะมีการยกขันหมากมีเงินสินสอด ผ้าไหว้ตามที่ตกลงกันไว้ จะเห็นได้จากตอนที่นางทองประศรียกขันหมากมาสู่ขอนางพิมให้พลายแก้ว ได้กล่าวไว้ว่า
                        ครั้นรุ่งเช้าขึ้นพลันเป็นวันดี               ทองประศรีจัดเรือกัญญาใหม่
                        เอาขันหมากลงบรรทุกขลุกขลุ่ยไป     หามะโหรีใส่ท้ายกัญญา
                        ขันหมากเอกเลือกเอาที่รูปสวย                        นุ่งยกห่มผวยจับผิวหน้า
                        ก็ออกเรือด้วยพลันทันเวลา                  ครู่หนึ่งถึงท่าศรีประจัน
                        จึงจอดเรือเข้าหน้าสะพานใหญ่           ตาผลวิ่งไปเอาไม้กั้น
                        เสียเงินทองให้ขึ้นไปพลัน                   ขนขันหมากขึ้นบนบันได
                        ยายเป้าเถ้าแก่อยู่ที่บ้าน                         ก็นับขานเงินตราและผ้าไหว้
                        ครบจำนวนถ้วนที่สัญญาไว้                ให้ขนเข้าไปในเรื่อนพลัน
                        แถมพกยกของมาเลี้ยงดู                      ครั้นกินอยู่อิ่มดีขมีขมัน
                        ก็กลับเรือมาพร้อมหน้ากัน                  ถึงพลันจอดท่าพากันไป

            หลังจากพิธียกขันหมากแล้วก็จะมีพิธีเลี้ยงอาหารตอนบ่ายนิมนต์พระสงฆ์มาสวดให้แล้วจึงมีการสาดน้ำคู่บ่าวสาว เช่นในคำกลอนที่กล่าวไว้ว่า
                        ครั้นสุริยาเวลาบ่าย                             พลายแก้วย่างกรายมาจากบ้าน
                        ลงเรือพร้อมกันมิทันนาน                    รีบมายังบ้านศรีประจัน
                        กับเพื่อนบ่าวก็ก้าวขึ้นหอ                    พระมารอสวดมนต์สำรวมมั่น
                        เพื่อนสาวเข้าห้องล้อมกัน                    ออกจากเรือนนั้นมาทันใด
                        นั่งลงตรงหน้าท่านสมภาร                  แล้วท่านจึงส่งมงคลให้

กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ 
เรื่องประเพณีตรุษไทย 
          ตรุษ เป็นเทศกาลสิ้นปีของไทย ก็เพราะตรุษไทยเริ่มในวันแรม ๑๔ ค่ำ และ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ซึ่งในสมัยโบราณถือเป็นวันสิ้นปีเก่า การทำบุญในวันตรุษคือการสรงน้ำพระพุทธรูป โดยมากมักจะนำพระพุทธรูปในบ้าน ที่หล่อด้วยทองเหลือง เอาส้มมะขามขัดจนหมดสนิม แล้วเอาดินสอพองขัดให้ขึ้นเงาอีกทีหนึ่ง เพราะผู้ใหญ่ถือว่า ก่อนจะสรงน้ำท่าน ต้องขัดองค์ให้งามเสียก่อน
                        “เดือนสี่พิธีตรุษ                       เจ้างามสุดผุดผาดดี
                        ชำระพระชินศรี                       หมดผงเผ่าเข้าบิณฑ์ถวายฯ
                              การบุญผคุณมาศน้อง        นารี
                        ขาวสุดผุดผาดดี                       ส่องแก้ว
                        ชำระสระสรงสี                       พุทธรูป
                        ผงเผ่าเท่าหมดแล้ว                   แต่งเข้าบิณฑ์ถวายฯ

 บรรณานุกรม
                  ระวัชร์ ปิ่นเขียน . คติชนวิทยา.  ราชบุรี สถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง,  ๒๕๔๒.  

1 ความคิดเห็น: